แผนสาม - ทิ้งเด็กชายฮีบรูทุกคนลงในแม่น้ำไนล์
ชายเผ่าเลวีคนหนึ่งไปรับหญิงสาวเผ่าเดียวกันมาเป็นภรรยา หญิงนั้นตั้งครรภ์และคลอดบุตรชาย เมื่อนางเห็นว่าบุตรน่ารัก จึงซ่อนไว้ถึงสามเดือน เมื่อซ่อนต่อไปไม่ได้แล้ว นางก็เอาตะกร้าสานจากต้นกก ยาด้วยยางมะตอยและชัน วางทารกนั้นลงในตะกร้า แล้วนำไปไว้ที่กอปรือริมแม่น้ำไนล์ ส่วนพี่สาวของทารกนั้นยืนอยู่ห่างๆ คอยดูว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับน้อง
อพยพ 1:22, 2:1-4
เมื่อแผนการสองแผนแรกล้มเหลว ฟาโรห์ได้เริ่มต้นแผนที่สาม คือสั่งให้โยนบุตรชายฮีบรูทุกคนลงในแม่น้ำไนล์! และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตของโมเสส
"เมื่อนางเห็นว่าบุตรน่ารัก" คำว่าน่ารักนี้คือคำว่า "ดี" หรือ โทฟ (טוֹב)ในภาษาฮีบรู ดังนั้นประโยคนี้ใช้คำเดียวกันกับที่บันทึกไว้ใน ปฐก 1:31 เมื่อพระเจ้ามองเห็นสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างแล้วเห็นว่าดี เมื่อพระคัมภีร์บันทึกว่าแม่ของโมเสสเห็นบุตรน่ารัก ประโยคนี้จึงมีความหมายมากกว่าแม่เห็นลูกน่ารัก (เพราะจะมีแม่คนไหนที่เห็นลูกตัวเองไม่น่ารักบ้าง) แต่หมายความถึงแม่โมเสสมีความยำเกรงพระเจ้าและมองเห็นอย่างที่พระเจ้าเห็น เธอจึงมั่นใจที่จะขัดขืนคำสั่งของฟาโรห์ ความเชื่อนี้ช่วยให้แม่โมเสสตัดสินใจที่จะซ่อนลูกเอาไว้ (ฮบ 11:23) โดยเธอคงจะคาดว่าพระเจ้าจะช่วยกู้อย่างแน่นอน
ในช่วงเวลาสามเดือนที่แม่ซ่อนลูกเอาไว้ เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าแม่โมเสสคงจะอธิษฐานกับพระเจ้าทุกวันเพื่อขอการช่วยกู้ แต่สุดท้ายการช่วยกู้ของพระเจ้าก็ไม่ได้มาถึงในรูปแบบที่แม่โมเสสคาดคิดไว้ เธอซ่อนต่อไปไม่ไหว จึงตัดสินใจที่จะนำลูกชายใส่ตะกร้าแล้วนำไปไว้ที่ริมแม่น้ำไนล์
วันนี้หากใครกำลังประสบวิกฤตและกำลังรอการช่วยเหลือจากพระเจ้า อธิษฐานทุกๆวันแต่พระเจ้ายังคงไม่ตอบคำอธิษฐาน บางทีคำตอบอาจจะไม่ได้มาในแบบที่เราคาดคิดไว้ และพระเจ้าต่างหากที่กำลังรอคอยให้เราปล่อยมือออกจากปัญหา หยุดที่จะพยายามแก้ปัญหาด้วยตัวเอง และพึ่งพาพระเจ้าอย่างแท้จริงเหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับแม่ของโมเสสนี้ก็เป็นได้ (สดด 46:10)
หากเราพิจารณาว่าการช่วยกู้โมเสสออกมาจากน้ำนี้เป็นภาพที่เล็งไปถึงพระเยซูคริสต์มาช่วยกู้พวกเราทุกคนออกจากบาป เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามนุษย์ไม่สามารถที่จะกู้ตัวเองได้ และพระเจ้าเท่านั้นที่จะเป็นผู้นำความรอดมาสู่มนุษยชาติได้ เราจะได้ศึกษาความจริงข้อนี้อีกครั้งในรายละเอียดเมื่อเราศึกษาไปถึงอพยพ บทที่ 14 ในเหตุการณ์คู่ขนาน เมื่ออิสราเอลได้รับการช่วยกู้จากพระเจ้าจากน้ำในทะเลแดง (อพย 14:13-14)
ตะกร้าโมเสส เรือโนอาห์ ต้นกก กอปรือ และทะแลแดง
พระคัมภีร์ตอนนี้มีการเชื่อมโยงเหตุการณ์สำคัญๆ หลายๆ เหตุการณ์ โดยผู้เขียนใช้คำศัพท์และรูปประโยคแบบเดียวกันเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็น ความสัมพันธ์นี้จะเห็นเด่นชัดขึ้นเมื่ออ่านพระคัมภีร์จากภาษาต้นฉบับ ดังนั้นในบทความนี้ เราจำเป็นที่จะต้องลงรายละเอียดภาษาฮีบรู เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ ตรงนี้อาจจะยากที่จะเข้าใจแต่รางวัลที่จะมาถึงเราเมื่อเข้าใจแล้วนั้นล้ำค่ายิ่งนัก
คำว่า "ตะกร้า" นี้มีความหมายที่พิเศษมาก ในภาษาฮีบรูใช้คำว่า "เทบาห์" (תֵּבָה) โดยคำนี้มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์เพียงแค่สองตอน ในตอนแรกคำว่า "เทบาห์ โกเฟอร์" ถูกใช้เรียกเรือของโนอาห์ที่พระเจ้าให้ต่อขึ้นจากไม้เพื่อใช้ช่วยกู้โนอาห์และครอบครัวจากน้ำท่วม (ปฐก 6:14) และในตอนที่สอง "เทบาห์ โกเมอร์ (แปลว่าต้นกก)" ถูกใช้เรียกตะกร้าสานจากต้นกกที่ช่วยกู้โมเสสออกมาจากน้ำ (อพย 2:3) นอกจากคำว่าเทบาห์จะเป็นคำเดียวกันแล้ว คำว่าโกเฟอร์ กับโกเมอร์ก็มีเสียงที่คล้ายกันมาก เป็นไปได้ว่าผู้เขียนต้องการให้เราคิดถึงเหตุการณ์โนอาห์ เมื่อเราศึกษาพระคัมภีร์อพยพตอนนี้
ยิ่งไปกว่านั้น เทบาห์ทั้งสองนี้ได้ถูกชันยาเพื่อกันไม่ให้น้ำจากข้างนอกซึมเข้ามาข้างในและช่วยให้มนุษย์ที่อยู่ภายในเทบาห์รอดพ้นจากภัยพิบัติของน้ำนั้น คำว่าชันยาใน ปฐก 6:14 นั้น ภาษาฮีบรูใช้คำว่า "คะฟาร์" (כָּפַר) ซึ่งนอกจากจะมีความหมายว่าชันยาแล้ว ยังมีอีกความหมายคือ "ลบมลทินหรือลบบาป (atonement)" อีกด้วย วันลบบาป (ยม คิปเปอร์) ก็มีรากศัพท์มาจากคำๆ นี้นั่นเอง
ทำไมผู้เขียนถึงต้องบอกเราเรื่อง "กอปรือ" (แปลได้อีกว่า "ต้นกก") ในเหตุการณ์ตอนนี้ คำว่ากอปรือ ในภาษาฮีบรูคือคำว่า "ซุฟ" (סוּף) คำว่าซุฟนี้ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ 28 ครั้ง อยู่ในอพยพบทที่ 2 นี้ 2 ครั้ง และใน โยนาห์ 1 ครั้ง (ยนา 2:5) และในอิสยาห์ 1 ครั้ง (อสย19:6) ที่เหลือ 24 ครั้งเป็นคำเรียกทะเลแดงที่อิสราเอลข้ามเมื่อพวกเขาออกจากประเทศอียิปต์ ผู้เขียนบอกเราเรื่อง "กอปรือ" เพื่อส่งสัญญาณให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพระคัมภีร์ตอนนี้กับในอพยพ 14 นอกจากนั้นทั้งสองเหตุการณ์ยังมีพี่สาวของโมเสสคือมีเรียม ยืนดูเหตุการณ์อยู่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
สุดท้ายนี้ ยังมีการเชื่อมโยงอีกอย่างหนึ่งระหว่าง "เทบาห์" กับพิธีปัสกาที่พระเจ้าสั่งให้อิสราเอลฆ่าลูกแกะที่ไม่มีตำหนิ แล้วเอาเลือดของแกะนั้นป้ายไว้ที่ประตูบ้าน ทั้งด้านในและด้านข้าง เพื่อเมื่อพระเจ้าผ่านไปในอียิปต์และประหารบุตรหัวปี เลือดนี้จะปกป้องทุกๆ ชีวิตที่อยู่ในบ้านให้พ้นจากการพิพากษานั้น (อพย 12:5-7, อพย 12:12-13) คำว่าบ้านในภาษาฮีบรู คือคำว่า "ฮา-เบท" (הַבָּתִּ) เป็นคำที่ใช้ตัวอักษาเดียวกันกับคำว่า "เทบาห์" แต่เขียนกลับหลัง
ถ้อยคำที่เล็งไปถึงพระเยซูคริสต์
จริงอยู่ที่ความสัมพันธ์เหล่านี้อาจจะเป็นเพียงสิ่งบังเอิญที่เรามองเห็นไปเอง แต่พระเยซูได้บอกว่าถ้อยคำเหล่านี้เล็งไปถึงพระองค์ (ลก 24:25-27) และความสัมพันธ์เหล่านี้ร้อยรวมพระคัมภีร์ทั้งหมด เป็นเรื่องเดียวกันที่เล็งไปถึงพระเยซูคริสต์จริงๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์
พระเจ้าใช้วิธีไหนในการพิสูจน์ให้มนุษย์ได้เห็นว่าพระเยซูเป็นผู้ทำให้แผนการณ์ของพระเจ้าสำเร็จ? พระองค์ทรงบันดาลและเขียนเหตุการณ์เหล่านี้ไว้ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเป็นเวลากว่าพันปี ก่อนหน้าการลงมาบังเกิดของพระเยซู เป็นเหมือนภาพร่างหรือเงาที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และภาพวาดนี้สำเร็จในพระเยซู (ยน 19:30) และนี่คือหลักฐานที่ชัดเจนถึงความยิ่งใหญ่ของพระยาห์เวห์ และความอัศจรรย์ของพระคัมภีร์ที่มีชีวิต และสามารถนำมนุษย์มาสู่ชีวิตที่แท้จริงในพระเยซู
ยิ่งกว่านั้น ภาพเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจพระคัมภีร์พระกิตติคุณมากขึ้นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ไม้กางเขน ซึ่งเปรียบเสมือน "อพยพ" (หรือการจากไป) ของพระเยซูคริสต์ (ลก 9:30-31) ผู้เขียนพระกิตติคุณสามารถบันทึกรายละเอียดได้มากมาย แต่เขาเลือกบันทึกหลายๆ รายละเอียด ที่เราจะเข้าใจก็ต่อเมื่อเรามีภาพเงาของพระเยซูเหล่านี้อยู่ในหัว ตัวอย่างเช่น ยอห์นบันทึกไว้ว่าคนที่ยืนอยู่ข้างกางเขน มีนางมารีย์แม่ของพระเยซู, มารีย์ภรรยาเคลโอปัส และมารีย์มักดาลา (ยน 19:25) แน่นอนว่ามีคนอื่นๆ ยืนอยู่ข้างกางเขนด้วย (เช่นตัวยอห์นเอง) แต่ยอห์นกลับไม่ได้บันทึกคนอื่นๆ เอาไว้ เขาเลือกบันทึกเฉพาะมารีย์ เป็นไปได้อย่างยิ่งว่ายอห์นต้องการให้เราเห็นความสัมพันธ์ของมารีย์ กับมีเรียม (ซึ่งเป็นชื่อมารีย์ในภาษาฮีบรู) พี่สาวของโมเสสที่ยืนมองเหตุการณ์อยู่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขา
เมื่อเราพิจารณาภาพของเรือโนอาห์ ตะกร้าโมเสส บ้านในพิธีปัสกา และ ทะเลแดงด้วยกันเป็นภาพของการพิพากษาและการช่วยกู้ เราจะเห็นว่าการพิพากษาจะมาถึงโลกนี้ และทุกๆคนจะต้องเผชิญกับการพิพากษา เปรียบเสมือนกับน้ำท่วมโลก, การประหารบุตรหัวปี และการเดินผ่านทะเลแดง (ทะเลต้นกก) ที่ทั้งชาวอิสราเอลและชาวอียิปต์จะต้องเดินผ่านไป แต่ด้วยพระคุณของพระเจ้า พระองค์ให้ทางออกกับมนุษย์ โดยพระเจ้าประทานเรือโนอาห์ ตะกร้าโมเสส และบ้านที่มีเลือดแกะป้ายอยู่ ใครก็ตามที่เข้าไปอาศัยในบ้านนี้ จะได้รับการปกป้อง ไม่ต้องรับการพิพากษา ถ้าน้ำภายนอกตะกร้าเปรียบเสมือนการพิพากษา ชันยาคือสิ่งที่จะปกป้องผู้ที่อยู่ในเทบาห์ให้รอดพ้นจากการถูกพิพากษา และชันยานี้เองเป็นเงาของเลือดของพระเยซูคริสต์ผู้เป็นเหมือนลูกแกะที่ไม่มีตำหนิป้ายอยู่บนไม้กางเขนนั่นเอง
เรื่องราวทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วเป็นเรื่องราวหนึ่งเดียวกัน ที่มาสำเร็จในพระเยซูคริสต์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ตามที่พระเยซูทรงกล่าวไว้จริงๆ
จากฮีบรูสู่อียิปต์
อพยพ 2:5-10
เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมากที่สุดเหตุการณ์หนึ่งเลยทีเดียว เมื่อการช่วยกู้จากพระเจ้ามาถึง โมเสสได้ไปอาศัยอยู่ในวังของฟาโรห์ และแม่ยังคงได้เลี้ยงดูลูกตัวเอง แถมได้ค่าจ้างในการเลี้ยงลูกอีก ผลที่ออกมายืนยันว่าความคิดและแผนการณ์ของพระเจ้ายิ่งใหญ่เหนือกว่าที่มนุษย์จะคิดได้จริงๆ (อสย 55:8-9) คำว่า "ไปหาเถิด" (ไปเถิด) ที่ธิดาฟาโรห์พูดกับมีเรียมนี้ จะเป็นสิ่งที่โมเสสและอิสราเอลต้องการให้ฟาโรห์พูดในอนาคต เพื่อปล่อยชนชาติอิสราเอลออกจากอียิปต์ ซึ่งเราจะได้เรียนต่อไปในบทเรียนภัยพิบัติสิบประการ ในบทถัดไปเราจะได้ศึกษาความหมายของชื่อของโมเสสกัน มีสิ่งที่น่าสนใจมาก โปรดติดตามตอนต่อไป