พระเจ้าผู้มองเห็นและได้ยิน
เราได้ยินเสียงร้องของพวกเขา เพราะการกดขี่ของพวกนายทาส เรารู้ถึงความทุกข์ร้อนต่างๆ ของเขา
เราลงมาเพื่อจะช่วยเขาให้รอดจากมือชาวอียิปต์
และนำเขาออกจากแผ่นดินนั้น
ไปยังแผ่นดินที่อุดม กว้างขวาง เป็นแผ่นดินที่มีน้ำนมและน้ำผึ้งไหลบริบูรณ์
คือไปยังที่อยู่ของคนคานาอัน คนฮิตไทต์ คนอาโมไรต์ คนเปริสซี คนฮีไวต์ และคนเยบุส
บัดนี้เสียงร้องของชนชาติอิสราเอลมาถึงเราแล้ว
ทั้งเราได้เห็นการบีบคั้นซึ่งคนอียิปต์ทำต่อพวกเขา
-- อพยพ 3:7-9 (THSV11)
พระคัมภีร์ตอนนี้เริ่มต้นด้วยโครงสร้างไคแอสซึ่ม พระยาห์เวห์เป็นพระเจ้าที่มองเห็นและได้ยินเสียงร้องของคนของพระองค์ และพระองค์จะทำตามสัญญาที่พระองค์ทรงให้ไว้ (ปฐก 15:18-20)
ในโลกเรานี้ คนที่มีตำแหน่งสูง คนที่เป็นผู้นำหรือพระมหากษัตริย์ มักจะเป็นคนที่พูดและสั่งการ และคนที่มีตำแหน่งที่ต่ำกว่าจะต้องเป็นผู้ฟัง รับคำสั่งและปฏิบัติตาม แต่พระยาห์เวห์ผู้เป็นกษัตริย์เหนือกษัตริย์ กลับเป็นพระเจ้าที่ได้ยินและฟังคำร้องของพวกเรา ใส่ใจและเป็นห่วงเป็นใย และช่วยเหลือเรา ในพระคัมภีร์สดุดี ผู้เขียนบอกพระเจ้าว่า "ขอเงี่ยพระกรรณ์ (หู) มายังข้าพระองค์" (สดด 31:2) คำว่าเงี่ยหูนี้แปลตรงตัวได้ว่า "ก้มหูลงมาก" นี่เป็นภาพของพระเจ้าที่นั่งอยู่บนบัลลังค์แต่ยอมก้มตัวลงมาเพื่อฟังเรา1
พระลักษณะของพระเจ้านี้แสดงให้เห็นว่าพระองค์ไม่เหมือนพระอื่นๆ ความจริงนี้มีสิ่งสำคัญที่เราควรตอบสนองอยู่สองด้าน
ด้านที่หนึ่ง ถ้าพระองค์เป็นพระเจ้าที่ฟัง พระองค์คาดหวังให้เราเข้ามาพูดคุยกับพระองค์อยู่บ่อยๆ การอธิษฐานกับพระเจ้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ เปรียบได้กับการที่ลูกเข้ามาพูดคุยกับพ่อแม่ ว่าชีวิตวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง มีปัญหาอะไร มีสิ่งใดมารบกวนใจ หรือมีสิ่งใดที่ลูกๆ ชอบ พระเจ้าเป็นเหมือนพ่อและแม่ที่ใส่ใจลูกๆ (อสย 49:15-16) ต้องการมีความสัมพันธ์กับเรา และความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานที่สุดคือการได้พบปะพูดคุยกันอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ด้านที่สอง เมื่อพระองค์ฟังเรา พระองค์คาดหวังให้เราฟังพระองค์เช่นกัน (อพย 19:5, สดด 78:1) ดังนั้นการศึกษาพระคัมภีร์ และการไวต่อการฟังเสียงของพระเจ้า ในช่วงเวลาอธิษฐาน การนิ่งสงบและรอคอยฟังเสียงของพระเจ้าเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้า
เราจะอยู่กับเจ้า
-- อพยพ 3:10-12 (THSV11)
ในที่สุดโมเสสก็ได้เจอกับพระเจ้าที่คิดเห็นเหมือนกับเขาเองเมื่อสี่สิบปีก่อนเห็นความอยุติธรรมแล้วต้องการช่วยเหลือแต่กลับเป็นเหตุให้ตัวเขาต้องหลบหนีออกจากวัง โมเสสคงหวังในใจว่าพระเจ้าองค์นี้จะลงมือเข้าไปช่วยกู้ แต่พระเจ้ากลับสั่งให้โมเสสกลับไปเข้าเฝ้าฟาโรห์และนำชนชาติอิสราเอลออกจากอียิปต์! คำถามของโมเสสที่ว่าข้าพระองค์เป็นใครนี้ เป็นคำถามที่ปรกติมาก ถึงแม้ว่าโมเสสจะมีความรู้ และความสามารถ เชี่ยวชาญทั้งภาษาและวัฒนธรรมของอียิปต์และอิสราเอล มีประสบการณ์เติบโตในวังของฟาโรห์ น่าจะเข้าใจการเมืองการปกครอง เขาเป็นผู้มีความสามารถและเชี่ยวชาญในการพูดและกิจการต่างๆ (กจ 7:21-22) แต่เขาก็เริ่มมีอายุมากแล้ว และมาอาศัยอยู่ในมีเดียนเป็นเวลานาน
สิ่งที่น่าสนใจคือพระเจ้ากลับไม่ได้ยกเหตุผลเหล่านี้ มาเป็นข้อสนับสนุนการทรงเรียกโมเสสในพันธกิจนี้ พระเจ้าให้เหตุผลสองอย่างในการหนุนใจโมเสส
ข้อแรก คือพระเจ้าจะสถิตอยู่กับโมเสส สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่โมเสสมีความสามารถ มีทรัพย์สิน มีความรู้หรือมีชื่อเสียงอย่างไร เมื่อพระเจ้่าเรียกใช้คน สิ่งสำคัญคือพระเจ้าจะสถิตย์อยู่ด้วยกับคนของพระองค์ และถ้าพระเจ้าผู้สร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกสถิตย์อยู่ด้วย โมเสสก็ไม่จำเป็นต้องกลัวว่างานนี้จะไม่สำเร็จ ความจริงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เป็นจริงไม่เฉพาะกับโมเสส แต่เป็นจริงกับผู้ที่เชื่อวางใจในพระองค์ในวันนี้ด้วยเช่นกัน
ข้อที่สองคือพระเจ้าได้ให้หมายสำคัญกับเขาว่าในอนาคต เขาจะนำคนอิสราเอลมานมัสการพระเจ้าบนภูเขาโฮเรบนี้ สิ่งนี้ให้ความหวังกับโมเสสในการทำงานตามคำสั่งของพระเจ้า เพราะโมเสสจะคิดถึงคำสัญญาหมายสำคัญนี้ ว่าจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน ถึงแม้เขาไม่รู้ว่าเส้นทางในการเดินจะเป็นอย่างไร เขาจะมั่นใจได้ในจุดหมายปลายทางที่เขาจะไปถึงแน่นอน
ชีวิตของคริสเตียนก็เป็นเช่นเดียวกัน เมื่อเราออกไปรับใช้พระเจ้า และใช้ชีวิตในโลกนี้ เราไม่ควรเป็นกังวลว่าเราจะมีความสามารถเพียงพอหรือไม่ เราเหมาะสมกับงานที่พระเจ้าเรียกมั๊ย แต่สิ่งสำคัญคือพระเจ้าผู้มองเห็นความต้องการของเรา ผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งและมีอำนาจเหนือสิ่งใด จะสถิตย์กับเราที่ทุกที่ (มธ 28:19-20) และทุกงานที่พระเจ้าเรียกให้เราทำ หากเราใคร่ครวญความจริงข้อนี้ เราจะมีความเข็มเข็งและกล้าหาญ ในการทำตามและเดินไป ถึงแม้เราไม่รู้ว่าเส้นทางที่เดินไปจะเป็นอย่างไร เราจะมั่นใจได้เช่นกันถึงจุดหมายปลายทางของผู้เชื่อแต่ละคน ที่จะได้มีส่วนในแผ่นดินของพระเจ้า ตามที่พระองค์สัญญาไว้ (อสย 66:22, 2ปต 3:13, วว 21:1-2, วว 21:27)
Footnotes
1 There is a scandalous little line that occurs twice in the New King James Version of the Psalms, when the praying person entreats God to “bow down Your ear” (Psalm 31:2; 86:1). Consider the implications of such an invocation. A subject of the Most High, who ought to approach in trembling obeisance, asks the King to bow down to him. We picture the master stooping to the level of the servant, bending his neck so the servant can speak at his eye level, the King’s ear to the subject’s mouth. Our surprise grows when we recall that an act of listening is an act of obedience, and it turns out that “bow down Your ear” perfectly captures what is required for the Lord to listen to humans. It’s what theologians of previous generations used to call the “condescension” of the Lord, but they didn’t mean it with the negative connotations it carries today. The Lord lowers himself to pay attention to an individual’s particular troubles, even doing for her what she asks. What kind of king is this who would kneel down before his subjects? We find ourselves at the heart of the gospel mystery—that the heavenly King not only speaks but listens, that he not only commands obedience but obeys commands. God’s serving nature does not make him servile to our desires; he does not serve out of slavish compulsion or hollow duty, but of a freely chosen posture of servanthood, because that is who he is.
McHugh, Adam S.. The Listening Life: Embracing Attentiveness in a World of Distraction (p. 35). InterVarsity Press. Kindle Edition.